รวบแก๊งชาวจีน ตระเวนขับรถเพื่อส่ง SMS ปลอม แนบลิงก์ดูดเงิน

รวบแก๊งชาวจีน

รวบแก๊งชาวจีน ตระเวนขับรถติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐาน เน้นย่านคนพลุกพล่าน

ตร.ไซเบอร์ ตามรวบแก๊งชาวจีน ตระเวนขับรถติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐาน ส่ง SMS ปลอม แนบลิงก์ดูดเงิน เน้นย่านคนพลุกพล่าน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 ม.ค. 68 พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. นำกำลังเปิดปฏิบัติการตรวจค้นห้องพัก 2 ห้อง ภายในอพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่ง แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุม กรุงเทพฯ เข้าจับกุม MR. LI CHUYUAN อายุ 49 ปี และ MR. ZHU XIANGWU อายุ 47 ปี สัญชาติจีน พร้อมตรวจยึดของกลาง รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ซีอาร์วี สีบรอนซ์ ทะเบียน กทม. ภายในติดตั้งเครื่องส่ง SMS ปลอม (False Base Station) โทรศัพท์มือถือ 11 เครื่อง สมุดบัญชีธนาคาร บัตรเอทีเอ็ม และซิมโทรศัพท์มือถือ กว่า 30 รายการ

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากทางตำรวจไซเบอร์ตรวจสอบพบมีคนร้ายใช้เครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ส่งข้อความ SMS ปลอม พร้อมแนบลิงก์ดูดเงิน โดยขับตระเวนไปในเส้นทางที่มีแหล่งประชาชนพลุกพล่าน อาทิ ห้างไอคอนสยาม เอเชียทีค และห้างเซ็นทรัลเวิลด์ รวมทั้งจุดสำคัญอีกหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ โดยมีการใช้ยานพาหนะในการเคลื่อนที่ในการส่งข้อความตลอดเส้นทาง ซึ่งสามารถกระจายสัญญาณได้เป็นรัศมีถึง 1- 3 กิโลเมตร

รวบแก๊งชาวจีน

ซึ่งจะเป็นการลดสัญญาณของเสาเบสโทรศัพท์ในพื้นที่ เพื่อเปิดช่องให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์อีกชุด ส่งข้อความลิงก์ข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชน โดยอ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน กรมสรรพากร การไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อหลอกลวงโดยให้กดลิงก์ หากประชาชนหรือผู้ที่หลงเชื่อกดลิงก์ดังกล่าว ก็จะถูกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล โดยสามารถทำการโอนเงินจากบัญชีธนาคารที่เครื่องโทรศัพท์นั้นติดตั้งแอปพลิเคชัน ประเภท Mobile Banking ซึ่งเครื่องส่งสัญญาณดังกล่าว สามารถส่งเข้าไปยังโทรศัพท์มือถือได้กว่า 30,000 หมายเลข

จึงได้สั่งการให้ชุดสืบสวนนำกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบหาข่าวร่วมกับวิศวกร AIS เพื่อทำการสืบสวนหาตัวคนร้ายดังกล่าว กระทั่งพบแหล่งกบดานว่ามาเช่าห้องพักอาศัยอยู่ที่อพาร์ทเมนท์ในพื้นที่บึงกุ่ม จึงนำกำลังเข้าจับกุมตัวชาวจีนทั้งสองราย พร้อมของกลางทั้งหมด

จากการตรวจสอบภายในรถ พบเครื่องจำลองสถานีฐาน กำลังทำงานอยู่ ตรวจสอบร่วมกับทีมวิศวกร AIS พบว่าเป็นเครื่องส่งข้อความ (SMS) ซึ่งเป็นลักษณะของการจำลองเสา (False Base Station) เพื่อส่งสัญญาณปลอมของเครือข่าย AIS โดยอุปกรณ์นี้เป็นเครื่องวิทยุโทรคมนาคม ที่มีลักษณะการดัดแปลงการส่งสัญญาณในคลื่นความถี่ต่างๆ และจากการตรวจสอบ ไม่พบการได้รับอนุญาตจาก กสทช. แต่อย่างใด

ส่วนผู้ต้องหาชาวจีน 2 คน ที่จับกุมได้นั้น พบว่าเดินทางเข้าประเทศไทยมาเมื่อกลางเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา อ้างว่ามาทำงานเป็นไกด์ทัวร์ จากการสอบสวนเบื้องต้นให้การปฏิเสธว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่วมก่อเหตุ โดยอ้างว่า ขอยืมรถจากเพื่อนไปใช้ในระหว่างที่ทำงานอยู่ในเมืองไทย แต่ชุดจับกุมมีหลักฐานมัดตัวผู้กระทำผิดทั้งสองราย ว่ามีความเคลื่อนไหวในการส่งข้อความ SMS แนบลิงก์ดูดเงินในช่วง 4 วันที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ร่วมขบวนการเป็นชายชาวจีนอีก 1 คน ที่ยังหลบหนี ซึ่งเป็นผู้ที่มาเช่าห้องพักในอพาร์ทเมนท์ดังกล่าว พักอาศัยอยู่เกือบ 1 ปี ตำรวจอยู่ระหว่างการขยายผลติดตามตัว

ด้าน พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. กล่าวว่า สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุมีอยู่ 4 ส่วนที่นำมาประกอบเป็น 1 ชุด คือ 1. แบตเตอรี่ 2. แลปท็อปที่มีการลงโปรแกรมอยู่  3. เสาสัญญาณ และ 4. Stingray หรือ ปลากระเบน ซึ่งถูกใช้ในงานสืบราชการลับในอเมริกา เมื่อนำทั้ง 4 ส่วนมาประกอบกันก็จะเป็นตัวเสาสัญญาณขนาดเล็กเสมือนเสาสัญญาณมือถือ ซึ่งโทรศัพท์ที่อยู่บริเวณเสาสัญญาณนี้จะถูกดักสัญญาณผ่านตัวเครื่องเพื่อดักส่งข้อมูล SMS

ในการจับกุมครั้งนี้เราพบว่ามีเฉพาะในเรื่องการส่งสัญญาณหมายเลขประจำซิม แต่ไม่มีเรื่องการจับสัญญาณเสียง เมื่อเครื่องนี้ทำงาน โอเปอร์เรเตอร์ค่ายมือถือต่างๆ จะไม่ทราบว่ามีการส่ง SMS ไปยังลูกค้า เนื่องจาก SMS ถูกส่งจากเสาปลอมของคนร้ายโดยตรง ซึ่งคนร้ายจะนำอุปกรณ์ปล่อยสัญญาณไปยังแหล่งชุมชนเพื่อทำการส่ง SMS โดยการปลอมชื่อผู้ส่งเป็นหน่วยงานต่างๆ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อคนร้ายก็จะหลอกติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงิน ที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการสืบสวนมาโดยตลอด และได้รับความร่วมมือจาก กสทช. ค่ายมือถือต่างๆ จนสามารถจับตัวคนร้ายกลุ่มนี้ได้

ด้าน นายวิสิฐศักดิ์ เจริญไชย ผอ.ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เผยว่า ปัจจุบันทางบริษัทรวมถึงค่ายโทรศัพท์มือถืออื่น จะไม่มีการส่งข้อความในลักษณะที่เป็นลิงก์ให้ลูกค้ากดเข้าไปแล้ว จะมีแต่แก๊งคอลเซ็นเตอร์เท่านั้นที่ใช้วิธีการนี้เพื่อเข้าถึงเหยื่อ จึงฝากเตือนประชาชนว่า ถ้ามีการส่งลิงก์เข้าไปในโทรศัพท์มือถืออย่ากดเข้าไปเด็ดขาด เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ถูกดูดเงินจนเกลี้ยงบัญชีได้

ติดตามข่าวสาร ข่าวเด็ด ประเด็นร้อน ที่นี่ 👉 ข่าวเด็ดประจำวัน