หลังแผ่นดินไหวสงบ “หมอกิม” สอนวิธีดูรอยร้าว-รอยแตกของอาคาร แบบไหนอันตรายที่สุด

แผ่นดินไหว

หลังแผ่นดินไหวสงบ “หมอกิม” สอนวิธีดูรอยร้าว-รอยแตกของอาคาร แบบไหนอันตรายที่สุด

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13:20 น. ตามเวลาประเทศไทย เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 แมกนิจูดที่ประเทศพม่า โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณเมืองสะกาย พื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศเมียนมา ข้อมูลจาก GEOFON และ USGS ระบุว่าแผ่นดินไหวนี้มีความลึก 10 กิโลเมตร และมีการสั่นสะเทือนที่รับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร 

เมื่อเหตุแผ่นดินไหวผ่านพ้นไป หนึ่งในปัญหาที่เจ้าของอาคาร คอนโด และบ้านพักอาศัยต้องเผชิญคือ รอยร้าว-รอยแตกตามโครงสร้างอาคาร ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเสียหายและอันตรายที่ซ่อนอยู่ ล่าสุด เพจ The Sales-Partan : หมอกิม โดย หมอกิม น.สพ.ธีรพงษ์ เศรษฐิวัฒน์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ประเภทของรอยแตกตามลำดับความอันตราย เพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินเบื้องต้นก่อนเรียกผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ

4 ประเภทของรอยร้าว-รอยแตก และระดับความอันตราย

1. รอยแตกเส้นผม (Hairline Cracks) – อันตรายต่ำ

รอยแตกประเภทนี้เป็นเพียงรอยเล็กๆ ที่มีความกว้างไม่เกินบัตรเครดิตหรือเส้นผม มักเกิดจากการหดตัวของวัสดุก่อสร้าง ยังไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง แต่ควรเฝ้าระวังและซ่อมแซมเมื่อมีโอกาส

รอยแตกเส้นผม

2. รอยแตกแนวตั้ง (Vertical Cracks) – อันตรายต่ำถึงปานกลาง

รอยแตกแนวตั้งสามารถพบได้ตามกำแพง โดยมีลักษณะบางหรือหนา หากรอยแตกมีความกว้างเกิน 5 มิลลิเมตร ควรให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของแรงกดทับที่ผิดปกติภายในโครงสร้างอาคาร

รอยแตกแนวตั้ง

3. รอยแตกแนวนอน (Horizontal Cracks) – อันตรายสูง

รอยแตกแนวนอนที่พาดผ่านจากซ้ายไปขวาถือเป็นรอยแตกร้ายแรง ต้องได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญทันที เพราะอาจหมายถึงการเคลื่อนตัวของโครงสร้างหรือปัญหาฐานรากที่ส่งผลต่อความมั่นคงของอาคาร

รอยแตกแนวนอน

4. รอยแตกเฉียง (Diagonal Cracks) – อันตรายที่สุด

รอยแตกชนิดนี้มักเกิดขึ้นในมุม 30 ถึง 70 องศา ซึ่งเป็นสัญญาณของโครงสร้างที่ได้รับแรงกระทำจากแผ่นดินไหวหรือการทรุดตัวของดิน ต้องได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน เนื่องจากอาจส่งผลให้โครงสร้างอาคารพังถล่มได้

รอยแตกเฉียง

สรุป

หากพบรอยร้าวภายในอาคารหลังเหตุแผ่นดินไหว ควรตรวจสอบประเภทของรอยร้าวและประเมินความเสี่ยง โดยหากเป็น รอยแตกแนวนอนหรือรอยแตกเฉียง ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทันทีเพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย การละเลยรอยร้าวที่ดูเหมือนไม่มีอันตราย อาจนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงที่ไม่คาดคิดได้

ติดตามข่าวสาร ข่าวเด็ด ประเด็นร้อน ที่นี่ 👉 ข่าวเด็ดประจำวัน