ค้นพบ โครงกระดูกยุคน้ำแข็ง เก่าแก่ที่สุดในไทย เขตอุทยานฯ เขาสามร้อยยอด

โครงกระดูกยุคน้ำแข็ง

ค้นพบ โครงกระดูกยุคน้ำแข็ง (สมัยไพลสโตซีน) ในอุทยานฯ เขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ คาดอายุไม่ต่ำกว่า 29,000 ปี เป็นโครงกระดูกเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมาในไทย

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกันแถลงข่าวการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง (สมัยไพลสโตซีน) และภาพเขียนสีโบราณที่แหล่งโบราณคดีถ้ำดิน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเขาแดง อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบฯ โครงกระดูกยุคน้ำแข็ง

โครงกระดูกยุคน้ำแข็ง

โดยมีนายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯ นายพิศิษฐ์ เจริญสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด นางกฤษณา แผ่แสงจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดประจวบฯ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นักโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คณะเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร และสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง พร้อมทั้งจัดแสดงโบราณวัตถุบางส่วน ที่ได้จากการขุดค้นพบภายในแหล่งโบราณคดีถ้ำดิน และการจัดแสดงภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรในโครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีที่ถ้ำดิน

โครงกระดูกยุคน้ำแข็ง

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณในครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีภายในถ้ำดิน เขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ถือเป็นการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุด เท่าที่เคยค้นพบมาในประเทศไทย สันนิษฐานว่าโครงกระดูกนี้ น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 29,000 ปี ร่วมสมัยกับยุคน้ำแข็งตอนปลาย ทำให้ทราบว่าแผ่นดินไทยนี้มีมนุษย์อาศัยอยู่นานมาแล้วนับหมื่นปีก่อน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายผลการศึกษาเพิ่มเติม 

โครงกระดูกยุคน้ำแข็ง

ขณะเดียวกันทราบว่าผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความสำคัญมาก อาจจะนำไปสู่การค้นพบใหม่ๆ เพิ่มเติมได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบนิเวศ โครงกระดูกสัตว์ พันธุ์พืชต่างๆ จะช่วยเติมเต็มข้อมูลการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ในสมัยนั้นเพื่อเป็นความรู้สู่คนรุ่นต่อๆ ไป นอกจากนี้ กรมศิลปากรจะเกาะติดการศึกษาในเรื่องนี้และจะมีการตีพิมพ์รายงานการศึกษา ซึ่งในปีนี้ถึงปีหน้า กรมศิลปากรจะทำการศึกษาอย่างจริงจังและมีโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีอีกหลายแห่งทั่วประเทศ ทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ เมื่อสำรวจแล้วจะนำไปสุ่การขุดค้น เมื่อขุดค้นพบวัตถุโบราณก็จะมีการนำมาวิเคราะห์หลักฐาน ศึกษาเข้มข้นขึ้นจนได้ข้อสรุปต่อไป

ด้านนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายให้จังหวัดประจวบฯ เป็นพื้นที่นำร่องพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การค้นพบโบราณวัตถุในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงกับเส้นทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดได้ ซึ่งจะมีการประสานการทำงานกับกรมศิลปากร ร่วมกันกำหนดพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวที่เหมาะสมต่อไป เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยปัจจุบันเส้นทางการท่องเที่ยวถ้ำดินยังไม่มีความพร้อมและยังไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมแหล่งโบราณคดีถ้ำดินแต่อย่างใด ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรอยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจขุดค้นเพิ่มเติม

โครงกระดูกยุคน้ำแข็ง

ทั้งนี้ สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้ดำเนินโครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีที่ถ้ำดิน ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เพื่อศึกษาร่องรอยการอยู่อาศัยของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย เป็นฐานข้อมูลทางวิชาการในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวทางมรดกศิลปะวัฒนธรรมและเชิงประวัติศาสตร์ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดในอนาคต 

โดยพบหลักฐานการอยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินเก่า – สมัยหินกลาง กำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ (AMS) ได้ประมาณ 29,000 – 10,000 ปีมาแล้วภายในถ้ำดิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 คูหา โบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นในปีงบประมาณ 2565 – 2566 ประกอบด้วย กระดูกสัตว์ เปลือกหอย เมล็ดพืช และหิน และในปีงบประมาณ 2567 พบหลักฐานสำคัญในระดับความลึกที่ 190 – 195 เซนติเมตร จากระดับพื้นถ้ำปัจจุบัน เป็นหลักฐานการฝังศพโครงกระดูกจำนวน 1 โครง จากการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่าเป็นโครงกระดูกเด็ก อายุขณะเสียชีวิต คาดว่าอยู่ในช่วงประมาณ 6 – 8 ปี

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นในขณะนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในถ้ำดิน เมื่อประมาณ 20,000 กว่าปีมาแล้ว มีความเกี่ยวโยงเป็นเจ้าของภาพเขียนสีที่พบภายในถ้ำและตามเพิงผาในบริเวณเทือกเขาสามร้อยยอด ซึ่งขณะนี้กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางที่จะวิเคราะห์ค่าอายุภาพเขียนสีโดยตรงต่อไป. 

ติดตามข่าวสาร ข่าวเด็ด ประเด็นร้อน ที่นี่ 👉 ข่าวเด็ดประจำวัน