วันนี้พวกเราจึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักโรคที่พบบ่อยในแมวแต่ละช่วงวัย ว่ามีอะไรกันบ้าง และมีวิธีสังเกตอาการน้องแมวอย่างไร?
“น้องเหมียวสุดที่รักป่วย” เป็นเรื่องที่ทาสแมวทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การรู้จักโรคที่พบบ่อยในแมวแต่ละช่วงวัย จะช่วยให้เราสามารถสังเกตอาการผิดปกติของน้องแมวได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที รวมถึงช่วยป้องกันน้องแมวไว้ก่อนได้ด้วยนะ โรคที่พบบ่อยในแมว
โรคที่พบบ่อยในลูกแมว (อายุ 0 – 12 เดือน)
1. โรคไข้หัดแมว (Feline Distemper)
โรคไข้หัดแมว หรือ Feline Distemper เกิดจากเชื้อไวรัสพาร์โวไวรัส ที่แพร่กระจายผ่านทางอุจจาระ และน้ำลายของแมว ซึ่งมีผลต่อระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน สำหรับโรคนี้ ในลูกแมว มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง จึงควรระวังเป็นอย่างมาก
อาการของไข้หัดแมว: ลูกแมวมีอาการซึม เบื่ออาหาร มีไข้ อาจมีอาการหวัดแทรกซ้อน รวมไปถึงอาการท้องเสีย ซึ่งจะมีกลิ่นเหม็นคาวที่รุนแรง นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตลักษณะลำตัวของแมวได้ โดยแมวจะมีลำไส้หนาขึ้น ในท้องมีแก๊สเยอะ ในแมวอายุน้อย อาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วหลังจากป่วยไม่นาน
2. โรคไข้หวัดแมว (Feline Viral Rhinotracheitis หรือ Feline Herpes Virus)
โรคไข้หวัดแมว เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ระบาดมากในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง จากการรับเชื้อที่แพร่กระจายในอากาศ นอกจากนี้ อาจเกิดร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia หรือ Bordetella ได้ด้วย ในลูกแมวต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีอัตราการเสี่ยงตายจากโรคนี้ 30% มากกว่าแมวในช่วงอายุอื่นๆ
อาการของไข้หวัดแมว: มีขี้ตาเยอะเป็นพิเศษ ตาอักเสบ ร่วมกับอาการเซื่องซึม หายใจลำบาก มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก และเบื่ออาหาร นอกจากนี้ในกลุ่มที่ติดเชื้อรุนแรง จะสามาระสังเกตเห็นแผลหลุมบนลิ้นได้ชัดเจน
3. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Feline Leukemia virus)
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ โรคลิวคีเมีย เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อจากแม่สู่ลูกทางรก หรือติดต่อจากสารคัดหลั่งของแมวที่ป่วย เช่น ผ่านน้ำลาย น้ำตา ปัสสาวะ และอุจจาระ เป็นต้น ซึ่งสามารถก่อให้เกิดโรคได้ 2 กลุ่ม ดังนี้ 1. เกิดเนื้องอกและมะเร็ง 2. เกิดภูมิคุ้มกันต่ำลง ทำให้แมวป่วยง่าย ร่วมกับภาวะโลหิตจาง
อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาว: ซึม กินอาหารน้อยลง ผอม ขนหยอง และสามารถวินิจฉัยโรคนี้โดยการตรวจเลือด
4. โรคช่องท้องอักเสบในแมว
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม Coronavirus (ชื่อไวรัสเหมือน COVID-19) เชื้อตัวนี้จะคล้ายกับเชื้อที่ก่อโรคลำไส้อักเสบในแมว (Feline enteric coronavirus) แต่รุนแรงกว่า เนื่องจากเป็นเชื้อที่สามารถกลายพันธุ์ได้ และก่อโรครุนแรงขึ้นในแมว
อาการของท้องอักเสบในแมว: น้องแมวมีอาการซึมผิดปกติ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ไม่ทราบสาเหตุ หายใจลำบาก เนื่องจากมีของเหลวในช่องอก หรือท้อง หากเชื้อลามไปเนื้อเยื่อประสาท ก็อาจทำให้น้องแมวสูญเสียการทรงตัว สูญเสียการควบคุมการขับถ่ายได้
โรคที่พบบ่อยในแมวเจริญพันธุ์ (อายุ 1-6 ปี)
สำหรับแมววัยเจริญพันธุ์ หรือแมวโตเต็มวัย หากไม่ได้รับวัคซีน ก็ต้องเฝ้าระวังโรคเดียวกับในลูกแมว อย่างไรก็ตามควรระวังอีก 2 โรค คือ โรคเอดส์ในแมว และโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
1. โรคเอดส์ในแมว
สำหรับโรคเอดส์ในแมว เกิดจากการติดเชื้อไวรัส FIV กลุ่ม retrovirus ซึ่งจะมีการแพร่เชื้อที่คล้ายกับโรคเอดส์ในคน โดยจะติดต่อผ่านเลือดหรือน้ำลายของแมวป่วย มักเกิดในแมวตัวผู้ โดยเฉพาะฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้วัยเจริญพันธุ์จะต่อสู้กันจนบาดเจ็บเพื่อแย่งตัวเมีย จึงเป็นช่วงที่โรคจะแพร่กระจายได้เร็ว และหากเป็นโรคนี้แล้ว แมวไม่สามารถหายป่วยได้เช่นเดียวกับโรคเอดส์ในคน จึงเป็นที่มาของชื่อโรคนี้นั่นเอง
อาการของโรคเอดส์ในแมว: สำหรับแมวที่มีภูมิคุ้มกันดี มักไม่แสดงอาการออกมาทันที แต่สำหรับบางตัวก็มีอาการซึม เป็นไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีช่องปากและเหงือกอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองเกิดการขยายใหญ่ นอกจากนี้ในอาการรุนแรง แมวอาจมีอาการท้องเสียเรื้อรัง ซูบผอม จนเสียชีวิต
วิธีป้องกัน: เลี้ยงแมวในระบบปิด หรือไม่ให้ออกจากบ้านโดยไม่มีเจ้าของคอยดูแล
2. โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
สำหรับโรคนิ่วในแมว เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ประเภทอาหารที่แมวรับประทาน แมวกินน้ำน้อย แมวอั้นฉี่ เป็นต้น
อาการของโรคนิ่วในแมว: ฉี่เป็นเลือด ฉี่บ่อยผิดปกติ เข้าห้องน้ำนาน แต่ไม่มีปัสสาวะออกมา ร้องเวลาฉี่ ฉี่ผิดที่ บางตัวมีอาการซึม
วิธีป้องกันโรคนิ่วในแมว: เลือกอาหารที่ควบคุมปริมาณแมกนีเซียม ลดโอกาสเกิดนิ่วในปัสสาวะ , ให้น้องแมวกินน้ำบ่อยๆ
โรคในแมวสูงอายุ (อายุ 7 ปีขึ้นไป)
1. โรคไต
เป็นอีกหนึ่งโรคที่แมวสูงอายุมักเป็นกันบ่อย โดยมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง หรือโปรตีนสูงเป็นระยะเวลานาน
อาการของโรคไตในแมว: เบื่ออาหาร กินน้ำบ่อยกว่าปกติ ปัสสาวะเยอะ หรือไม่มีปัสสาวะเลย น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว มีลมหายใจเหม็นผิดปกติ
วิธีป้องกันโรคไตในแมว: เลือกอาหารแมวที่มีโซเดียมในระดับเหมาะสมตามช่วงวัยแมว, ไม่ให้น้องแมวกินอาหารคนทุกชนิด
ดูแลแมวให้อายุยืนเริ่มต้นได้ง่าย ๆ
แมวในแต่ละวัยมีความเสี่ยงในโรคต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราควรใส่ใจดูแลน้องแมวเป็นพิเศษ เพื่อให้เขาอยู่กับเราไปนาน ๆ หมั่นพาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีน เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงเช็กร่างกายของน้องแมวอยู่เสมอ นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ คือ ควรเลือกอาหารแมวที่มีสารอาหารครบถ้วน และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้สุขภาพของแมวแข็งแรง
ติดตามข่าวสาร ข่าวเด็ด ประเด็นร้อน ที่นี่ 👉 ข่าวเด็ดประจำวัน