ไฟดูดต้องถีบไหม ? อ.เจษฎ์ เฉลยแล้ว ถ้าโดนไฟดูดควรช่วยยังไง ชี้ไม่จำเป็นอย่าโดดถีบ ระวังเสี่ยงกว่าเดิม
หลังมีข่าวน่าสะเทือนใจ เมื่อนักเรียนชายในจ.ตรัง โดนไฟชอร์ตดับสลด เมื่อตรวจสอบพบเป็นไฟจากตู้กดน้ำ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่อง พร้อมวางแผนล้อมคอกตู้กดน้ำและปมไฟดูด ตามที่เคยเสนอข่าวไปแล้วนั้น
สำหรับความคืบหน้า วันที่ 24 มิ.ย.67 อ.เจษฎ์ หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็นช่วยเหลือคนโดนไฟดูด โดยโพสต์ในเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า
“ไม่จำเป็น ไม่ควรใช้วิธี “ถีบ” ช่วยคนถูกไฟฟ้าดูด” ครับ จากที่โพสต์แนะนำไป เกี่ยวกับกรณีที่มีเด็กนักเรียนเสียชีวิต เนื่องจากถูกไฟฟ้าจากตู้กดน้ำดื่ม ดูดเอาและได้รับการช่วยเหลือไม่ทัน มีคำถามในคอมเมนต์ว่า แล้วที่เคยสอนกัน “ให้กระโดดถีบ ช่วยคนที่ถูกไฟฟ้าดูด ให้หลุดออกไปนั้น” ยังเป็นวิธีที่ควรทำอยู่หรือไม่?
คำตอบสำหรับผม คือ ไม่แนะนำให้ทำครับ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายตามมา ทั้งกับคนที่เข้าไปช่วยถีบ และคนที่ถูกถีบ
เรื่องนี้ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS เคยทำเป็นคำถามในรายการ “คิดสิต้องรอด” โดยถามว่า ถ้าเห็นคนโดนไฟดูด จะทำอย่างไร ระหว่าง 1.วิ่งเข้าไปกระโดดถีบ 2.ใช้ไม้เขี่ยสายไฟ และ 3.ใช้ผ้าคล้องไปที่ตัว แล้วดึงเพื่อนออกมา .วิธีไหนที่ช่วยคนถูกไฟดูดให้ปลอดภัย และเราเองก็ปลอดภัยด้วย
โดยทางรายการอธิบายว่า “การกระโดดถีบ” จะเป็นช่วยทำให้คนที่ถูกไฟดูดอยู่ สามารถหลุดออกจากสายไฟได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นการช่วยที่เสี่ยงมากเช่นกัน เพราะอาจจะทำให้คนที่หลุดออกไปจากไฟดูด ไปกระแทกของที่อยู่ด้านหลัง จนได้รับบาดเจ็บ ! (อันนี้ เคยมีข่าวมาแล้ว คือ ไปถีบคนที่ถูกไฟดูดขณะยืนบนบันได แล้วถีบจนตกบันได ลงมากระแทกพื้นเสียชีวิตแทน)
หรือดีไม่ดี เรากระโดดถีบเขาาออกไป แล้วเราก็ตกลงทับสายไฟที่รั่วอยู่ กลายเป็นเราถูกไฟดูดตายไปเอง!
ทางรายการแนะนำวิธีการ “ใช้ไม้เขี่ยสายไฟ” โดยเมื่อพบคนถูกไฟฟ้าดูด ให้หาไม้ หรือพลาสติก หรืออุปกรณ์ที่เป็นฉนวนไฟฟ้า และต้องแห้งเท่านั้น นำมาเขี่ยสายไฟหรืออุปกรณ์ที่ปล่อยกระแสไฟฟ้า เขี่ยให้หลุดออกจากตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูด (ซึ่งเด็กๆ ที่มาร่วมรายการ สามารถใช้วิธีนี้ช่วย “หุ่นที่ถูกไฟดูด” ได้สำเร็จใน 5 วินาที)
ส่วนวิธี “ใช้ผ้าที่คล้องที่ตัว และดึงเพื่อนออกมา” นั้น ผ้าเป็นฉนวนที่ไฟฟ้าไหลผ่านไม่ได้ก็จริง แต่ต้องใช้ผ้าที่แห้ง และยาวพอที่จะโยนให้คล้องเข้ากับเป้าหมาย และดึงกระชากออกมา ซึ่งถ้าฝีมือไม่ถึง หรือพลาดไปสัมผัสโดนคนที่ถูกไฟดูดเข้า วิธีนี้ก็เสี่ยงทำให้เราถูกไฟฟ้าดูดไปด้วย เรากับเพื่อนก็จะไม่รอดทั้งคู่
ดังนั้น “ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ” ก็ไม่ควรใช้วิธีกระโดดถีบช่วยผู้ถูกไฟดูดครับ .หรือถ้าต้องทำ ต้องดูว่าบริเวณข้างๆ ผู้ที่ถูกไฟดูดนั้น มีพื้นที่โล่งพอให้ผู้ป่วยล้มลงไปโดยไม่เจ็บตัวมากนัก ให้เลือกค่อยถีบช่วงก้น หรือสะโพก ให้เร็วแรงพอที่จะให้หลุดออกได้ในครั้งเดียว
แต่ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรเลี่ยง “การกระโดดถีบ” แล้วมองหาสิ่งของที่เป็นฉนวน ไม่นำไฟฟ้า และแห้งไม่เปียกน้ำ ไปเขี่ยสายไฟหรือสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโดนไฟดูด ออกไปจากร่าง หรือเขี่ยมือ แขน หรือ เท้าของผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีไฟดูด
ที่สำคัญคือ ต้องรักษาระยะห่างจากผู้ถูกไฟดูด อย่าพึ่งรีบร้อนเข้าไปช่วย เพราะอาจจะสัมผัสโดนร่างกายของผู้ที่ถูกไฟดูดไปด้วย ควรตั้งสติ สังเกตก่อนว่าไฟฟ้าที่รั่วออกมาดูดนั้น มาจากที่ใด จะได้ไม่เข้าใกล้จุดนั้น และหาทางตัดไฟฟ้าได้ (เช่น ปิดสวิตช์ หรือสับคัตเอาท์) ตลอดจนควรที่จะต้องใส่รองเท้าด้วยก่อนเข้าไปช่วย
(เพิ่มเติม) ส่วนวิธีการปฐมพยาบาลนั้น เริ่มจากตรวจดูว่าผู้ป่วยยังมีสติแค่ไหน / ถ้า “ยังมีสติ” ครบถ้วน ให้นอนพัก ตรวจร่างกายคร่าวๆ ว่ามีบาดแผลร้ายแรงหรือไม่ มีรอยไฟไหม้ที่บริเวณใดหรือเปล่า / แต่ถ้า “หมดสติ” และ “ไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ” ให้รีบทำการ ปั๊มหัวใจผายปอด CPR โดยด่วน / จากนั้น ให้รีบนำส่งแพทย์ หรือโทรแจ้ง สายด่วนกู้ชีพ 1669
ติดตามข่าวสาร ข่าวเด็ด ประเด็นร้อน ที่นี่👉ข่าวเด็ดประจำวัน