สรุป 24 ชม. แผ่นดินไหว อาฟเตอร์ช็อก ขนาดเบาลงเรื่อยๆ
สรุป 24 ชม. การแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่เมียนมา อาฟเตอร์ช็อกรวม 98 ครั้ง หลังจากนี้อาจมีอาฟเตอร์ช็อกได้อีก แต่ขนาดจะเบาลง และไม่กระทบไทย ยันไม่มีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า พบสัญญาณชีพ 15 รายใต้ตึกถล่ม ย่านจตุจักร
กรณีเกิดแผ่นดินไหวบริเวณเมืองลอยกอใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ลึกลงไปประมาณ 10 กม. วัดความรุนแรงได้ถึง 8.2 ริกเตอร์ เมื่อช่วงเวลาประมาณ 13.30 น. ของวันที่ 28 มี.ค. 68 ที่ผ่านมา นอกจากสร้างความเสียหายอย่างหนักให้ตึกรามบ้านช่องและสาธารณูปโภคในประเทศเมียนมาแล้ว แรงสั่นสะเทือนยังแผ่ลงมาถึงพื้นที่ประเทศไทย หลายพื้นที่รับรู้แรงสั่นไหว รวมถึงสิ่งปลูกสร้างในประเทศไทยหลายจุด ได้รับความเสียหาย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
วันที่ 29 มี.ค. 68 หลังผ่านการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า มีการเกิดอาฟเตอร์ช็อกในรอบ 24 ชั่วโมง (ถึงเวลา 12.00 น.) จำนวน 98 ครั้ง โดยแบ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดต่างๆ ดังนี้
- แผ่นดินไหวขนาด 1.0-2.9 จำนวน 22 ครั้ง
- แผ่นดินไหวขนาด 3.0-3.9 จำนวน 42 ครั้ง
- แผ่นดินไหวขนาด 4.0-4.9 จำนวน 29 ครั้ง
- แผ่นดินไหวขนาด 5.0-5.9 จำนวน 4 ครั้ง
- แผ่นดินไหวขนาด 6.0-6.9 จำนวน 0 ครั้ง
- แผ่นดินไหวขนาด 7.0 ขึ้นไป จำนวน 1 ครั้ง
นายนัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีฯ และโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า เป็นไปตามที่กรมอุตุฯ คาดการณ์ว่า อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดตามมานั้น จะค่อยๆ มีขนาดที่เล็กลง และทิ้งช่วงการเกิดห่างขึ้น ซึ่งก็จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับประเทศไทยแล้ว สักพักก็จะเข้าสู้ภาวะปกติ แต่ช่วงแรกๆ อาจจะถี่หน่อย อย่างไรก็ตาม ตามหลักทฤษฎียังไม่มีประเทศใดที่จะแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวนั้นอยู่ลึกลงไปมากหลายสิบกิโลฯ เรายังไม่มีเซ็นเซอร์หรือเครื่องมือที่จะส่งไปวัดการเปลี่ยนแปลงตรงนั้นได้ สิ่งที่ทำได้คือ ทางอ้อม ด้วยการติดเซ็นเซอร์บนพื้นดินรอบๆ บริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดแผ่นดินไหว และนำมาคำนวณ ซึ่งเราจะทราบว่าเกิดแผ่นดินไหวก็ต่อเมื่อเขามีการเคลื่อนตัวแล้ว มีการปล่อยคลื่นแผ่นดินไหวออกมาแล้ว เราจึงทราบ ซึ่งอยากให้ประชาชนทั่วไปเช็กข้อมูลกับหน่วยงานราชการที่เชื่อถือได้
ขณะที่ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant หลังมีคนตั้งคำถามว่า สรุปแล้ว ในโลกใบนี้ ในประเทศอื่นๆ มีระบบแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้าไหม
โดย ศ.ดร.เจษฎา ระบุว่า ถ้าแจ้งเตือนล่วงหน้า ไม่น่ามีใช้แบบทั่วไป น่าจะเป็นการวิจัยกันอยู่ การทำนายและเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ยากมากๆ แล้วเมื่อเกิดแล้ว มันก็เคลื่อนตัวเร็วมากด้วย
อย่างในรูป จะเป็นงานวิจัยที่ทำกันอยู่ คือจับสัญญาณคลื่นแผ่นดินไหวที่นำออกมาก่อน (p wave) แล้วรีบแจ้งเตือนก่อนที่ลูกใหญ่ (s wave) จะตามมา แต่มันก็เป็นในช่วงเวลาที่ต่างกันระดับไม่กี่วินาทีจนถึงแค่ไม่กี่นาที
อย่างคราวนี้ก็เกิดแผ่นดินไหวที่พม่า แล้วเคลื่อนมาถึงกรุงเทพฯ ในเวลาแค่ 3-5 นาทีเอง เตือนให้หนี ก็ไม่ทันหรอก
แต่ที่ควรมี คือระบบแจ้งเตือนหลังเกิดเหตุการณ์ครับ ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แล้วจะต้องระวังเรื่องอาฟเตอร์ช็อกอย่างไรบ้าง จะได้รับมือกันถูก
อีกอย่างที่ควรสอนกันคือ ระหว่างที่เกิดแผ่นดินไหว ไม่ควรจะรีบหนี ควรจะต้องรีบมุดลงไปใต้โต๊ะเพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งที่หล่นมาจากเพดานด้านบน แล้วรอจนหยุดไหว ถึงค่อยออกอพยพกัน
ขณะที่การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุจากตึกถล่ม ย่านจตุจักรนั้น ทีมสื่อสารเฉพาะกิจ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เข้าร่วมประชุมวางแผนการปฏิบัติการค้นหาผู้ติดในอาคารถล่ม โครงการก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เขตจตุจักร โดยมี นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง
โดยมีแผนการค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่โซน A ด้วยการใช้เครื่องจักรกลหนักของกองทัพบก ร่วมกับทีมค้นหาจากทีม USAR ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในส่วนทีมแพทย์ฉุกเฉิน ประธานได้สั่งให้เตรียมความพร้อมทีมขั้นสูงในกรณีเมื่อสามารถนำผู้บาดเจ็บออกมาจากอาคารถล่มได้ ซึ่งปัจจุบันพบสัญญาณชีพจำนวน 15 รายที่อยู่ในระหว่างการกู้ภัย
ติดตามข่าวสาร ข่าวเด็ด ประเด็นร้อน ที่นี่ 👉 ข่าวเด็ดประจำวัน