สธ. ผนึก 16 มหา’ลัย ตั้งเป้าผลิตหมอปีละ 5,000 คน ดันไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เผยตอนนี้มีหมอ 50,000 คน หมอไม่ขาดแคลน แต่ไม่เพียงพอ
วันที่ 24 พ.ค. 2567 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ระหว่าง สธ. กับมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง ประกอบด้วย ม.เกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น จุฬาฯ ม.เชียงใหม่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.ธรรมศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ม.นเรศวร ม.บูรพา ม.พะเยา ม.มหาสารคาม ม.มหิดล ม.วลัยลักษณ์ ม.สงขลานครินทร์ ม.อุบลราชธานี และสถาบันพระบรมราชชนก
นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ. โดยสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ เข้าสู่ระบบและกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง และมีรพ.ของสธ.ที่เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก รองรับการฝึกนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4-6 จำนวน 39 แห่ง ผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบแล้ว 13,780 คน ซึ่งแพทย์กลุ่มนี้ยังคงอยู่ในระบบ 77%
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการขยายกรอบความร่วมมือทั้งด้านการศึกษา การผลิตบุคลากรสาธารณสุข การวิจัยเพิ่มมากขึ้น รองรับโยบายรัฐบาลในโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และอีกส่วนสำคัญคือรองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งต้องมีบุคลากรทางการแพทย์รองรับเพิ่มมากขึ้น
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สถานการณ์ภาพรวมเรามีแพทย์อยู่ประมาณ 50,000 คน อยู่ในสังกัดสธ. 25,000 คน ที่เหลือ 20-30% อยู่ที่ภาครัฐโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐ และหน่วยความมั่นคง ส่วนอีก 20% อยู่ในภาคเอกชน หากเทียบหลายปีก่อนถือว่าไม่ขาดแคลน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งการผลิตแพทย์ 1 คน สามารถสร้างผลผลิตให้กับประเทศได้หลายสิบหลายร้อยล้าน ทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมทั้งประเทศโรงเรียนแพทย์สามารถผลิตแพทย์ได้ปีละ 3,500 คน โดยแต่ละปี สธ.ร่วมผลิตในชั้นคลินิกประมาณ 2,000 คน ขณะนี้สธ.กำลังจัดทำร่างยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นไกด์ไลน์ในการพัฒนากำลังคน
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เดิมเรามองแต่บริบทการผลิตบุคลากรสาธารณสุขตอบสนองเฉพาะประชาชนในประเทศ แต่บริบทใหม่จะต้องตอบสนองบริการทางการแพทย์ที่เป็นคนต่างชาติมากขึ้นด้วย ซึ่งจำเป็นต้องผลิตบุคลากรทางการแพทย์หลายระดับมากขึ้นโดยความร่วมมือกับทุกหน่วย โดยเฉพาะแพทย์ที่ตั้งเป้าช่วง 6-10 ปีจากนี้จะต้องผลิตให้ได้ปีละ 5,000 คน เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ รวมถึงรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วย
ติดตามข่าวสาร ข่าวเด็ด ประเด็นร้อน ที่นี่ 👉 ข่าวเด็ดประจำวัน