กลุ่มติดอาวุธ PKK ในตุรกี ประกาศสลายตัวและยุติการเคลื่อนไหว

พรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน หรือ กลุ่มติดอาวุธ PKK

พรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน หรือพีเคเค (PKK) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ดในตุรกี หรือ ทูร์เคีย มากว่า 40 ปี ประกาศสลายตัวและยุติการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้นำกลุ่มที่ถูกจำคุกอย่างนายอับดุลลาห์ โอคาลัน เรียกร้องให้ยุบกลุ่มเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยกลุ่มนี้ถูกแบนในฐานะกลุ่มก่อการร้ายในตุรกี สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

กลุ่ม PKK เดิมทีมีเป้าหมายที่จะสร้างดินแดนบ้านเกิดที่เป็นอิสระสำหรับชาวเคิร์ด ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของประชากรตุรกี แต่หลังจากนั้น กลุ่มได้ละทิ้งเป้าหมายในการแบ่งแยกดินแดน โดยมุ่งเน้นไปที่การปกครองตนเองและสิทธิของชาวเคิร์ดที่มากขึ้นแทน มีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งดังกล่าวมากกว่า 40,000 คน

นายโอคาลัน เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพีเคเคในปี 1978 เขากบดานอยู่ในซีเรียจนกระทั่งถูกบีบให้ออกจากซีเรียในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษหลังปี 1990 ต่อมาเขาถูกหน่วยข่าวกรองตุรกีลักพาตัวขณะอยู่ในเคนยา

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นายโอคาลัน วัย 76 ปี เรียกร้องให้กลุ่มวางอาวุธและยุบกลุ่ม ผู้นำพรรค PKK ถูกคุมขังเดี่ยวในเรือนจำบนเกาะในทะเลมาร์มารา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของนครอิสตันบูล ตั้งแต่ปี 1999 ปัจจุบันเขาเป็นผู้ต้องขังที่เหลืออยู่คนเดียวบนเกาะนี้ 

นายโอคาลันเขียนจดหมายจากเรือนจำเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า “ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากประชาธิปไตยในการแสวงหาและสร้างระบบการเมืองขึ้นมา ความเห็นพ้องต้องกันของประชาธิปไตยคือหนทางพื้นฐาน” ไม่ชัดเจนว่านายโอคาลันและผู้สนับสนุนของเขาจะได้รับอะไรตอบแทนจากการยุบพรรค แต่มีการคาดเดาว่าเขาอาจได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

ด้านนักการเมืองชาวเคิร์ดหวังว่าจะมีการเจรจาทางการเมืองครั้งใหม่ และเป็นหนทางสู่สิทธิของชาวเคิร์ดที่มากขึ้น ขณะที่ทั้งสองฝ่ายมีเหตุผลที่จะทำข้อตกลงกันในขณะนี้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พรรค PKK ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกองทัพตุรกี และการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคทำให้พวกเขาและพันธมิตรต้องทำงานหนักขึ้นในการปฏิบัติการในอิรักและซีเรีย

ประธานาธิบดี เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ผู้นำตุรกี ต้องการการสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนชาวเคิร์ดหากต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกีอีกครั้งในปี 2028

โฆษกของพรรค AK ของประธานาธิบดีแอร์โดอัน กล่าวตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การตัดสินใจยุบพรรคเป็นก้าวสำคัญสู่ “ตุรกีที่ปราศจากการก่อการร้าย” และกระบวนการนี้จะถูกติดตามโดยสถาบันของรัฐ

วินธรอป ร็อดเจอร์ส จาก Chatham House ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านกิจการระหว่างประเทศ กล่าวว่า ตุรกีจะต้อง “เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยครั้งใหญ่” จึงจะตอบสนองความต้องการของพรรคการเมืองเคิร์ดได้ เขากล่าวว่ามี “ความปรารถนาดี” จากผู้นำตุรกีบางคนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การยุบพรรค PKK เกิดขึ้นได้

เขาเสริมว่า “แต่ยังไม่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะขยายไปถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าชาวเคิร์ดจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทางการเมืองและสังคมหรือไม่”

ติดตามข่าวสาร ข่าวเด็ด ประเด็นร้อน ที่นี่ 👉 ข่าวเด็ดประจำวัน