คะแนนคอร์รัปชัน ปี 67 ไทยอันดับ 107 ของโลก

คะแนนคอร์รัปชัน ปี 67

คะแนนคอร์รัปชัน ปี 67 แนะแก้วิกฤติก่อนรั้งท้ายในอาเซียน

ผลสำรวจ “CPI” ดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 2567 ไทยได้อันดับ 107 จาก 180 ประเทศทั่วโลก อันดับดีขึ้น 1 อันดับ แต่คะแนนลดลง แนะทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนไทยจะอันดับรั้งท้ายในอาเซียน

วันที่ 15 ก.พ. 68 มีรายงานว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ในปี 2567 ที่ได้สำรวจประเทศต่างๆ จำนวน 180 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่อันดับที่ 107 เพิ่มขึ้น 1 อันดับจากปีที่ผ่านมา และได้คะแนน 34 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 1 คะแนน

โดยระดับคะแนนผล CPI ในปี 2567 ในอาเซียนพบว่าประเทศไทยตกไปอยู่อันดับที่ 5 ตามหลังประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย ประเทศเวียดนามและประเทศอินโดนีเซีย และมีประเทศที่ได้คะแนนใกล้เคียงกับประเทศไทยอีก 2 ประเทศ คือ ประเทศลาวและประเทศฟิลิปปินส์

เมื่อเทียบสถิติย้อนหลัง 30 ปี จะพบว่า อันดับของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ระดับคะแนนเฉลี่ยคงที่อยู่ที่ 36 คะแนนมาโดยตลอด ทั้งที่ภาครัฐมีการสนับสนุนในเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันรวมถึงมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพิจารณาจากวิธีการสำรวจการจัดอันดับและการให้คะแนนของ TI ที่อาศัยแหล่งข้อมูลจาก 9 แหล่งข้อมูลหลัก ได้แก่

คะแนนคอร์รัปชัน ปี 67

1. IMD – การให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชันยังคงมีอยู่หรือไม่
2. WEF – ระดับการจ่ายเงินสินบนเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก การเข้าถึงสาธารณูปโภคการประเมินภาษีประจำปี การได้รับสัมปทาน การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และการนำเงินงบประมาณภาครัฐไปให้กับบริษัทบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ เพื่อการคอร์รัปชัน
3. PERC – การให้คะแนนการคอร์รัปชันในประเทศที่คุณอาศัย/ทำงานอยู่เท่าใด
4. WJP – การใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนของข้าราชการเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายทหาร และตำรวจ
5. GI – ความเสี่ยงด้านทางธุรกิจ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ และการออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจบางธุรกิจ
6. PRS – การให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออก การประเมินภาษี การได้รับความคุ้มครองจากตำรวจ
7. EIU – การตรวจสอบการใช้งบประมาณ การใช้อำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐและความเป็นอิสระขององค์กรตรวจสอบ
8. V-DEM – การทุจริตในภาคการเมืองมีการแพร่ขยายตัวอย่างไร
9. BF (TI) – การใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อประโยชน์มิชอบและประสิทธิภาพของรัฐบาลในการควบคุมปัญหาการทุจริต

คะแนนคอร์รัปชัน ปี 67

จาก 9 แหล่งข้อมูลจะเห็นได้ว่า หากภาครัฐยังดำเนินการแก้ไขปัญหาในรูปแบบเดิมๆ ระดับผลคะแนนคงยากที่จะไม่เปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันในส่วนของภาคเอกชน ผลการประเมินการรับรู้การทุจริต 3 จาก 9 แหล่งข้อมูลหลัก ในปี 2567 พบว่ามีระดับคะแนนปรับตัวลดลงในทุกมิติเมื่อเทียบกับปี 2566 ได้แก่

1. แหล่งข้อมูล IMD ได้ 36 คะแนน จาก 43 คะแนน
2. แหล่งข้อมูล WEF ได้ 34 คะแนน จาก 36 คะแนน
3. แหล่งข้อมูล GI ได้ 32 คะแนน จาก 35 คะแนน

อาจมองได้ว่าจาก 3 แหล่งข้อมูลดังกล่าว หมายความว่าภาคธุรกิจในประเทศไทยยังต้องมีการให้สินบนเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก การเข้าถึงสาธารณูปโภค การประเมินภาษีประจำปี การได้รับสัมปทาน มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและการนำเงินงบประมาณภาครัฐไปให้กับบริษัทบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ เพื่อการคอร์รัปชัน รวมถึงมีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ การติดสินบนเจ้าหน้าที่และมีการออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจบางธุรกิจ ที่ต้องดำเนินการแก้ไข ซึ่งหากประเทศไทยไม่เร่งสร้างการเปลี่ยนแปลง อันดับ CPI ของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียน

คะแนนคอร์รัปชัน ปี 67

ซึ่งการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือบุคคลเพียงไม่กี่กลุ่ม ดังนั้นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทุกคนในประเทศ จึงต้องร่วมมือกัน โดยภาครัฐควรกำหนดแผนยุทธศาสตร์ต่อต้านการคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรม ปรับปรุงกฎหมายให้มีความเป็นปัจจุบัน มีบทลงโทษที่เหมาะสมกับการกระทำผิดและมีความรัดกุม มีกลไกตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง ขณะที่ภาคเอกชนควรมีการออกนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันภายในองค์กรที่ครอบคลุมประเด็นที่มีความเสี่ยง เช่น การให้/การรับของขวัญ การจ้างบริษัทในห่วงโซ่ การให้ความรู้แก่บุคลากรในองค์กร การสร้างกลไกการแจ้งเบาะแส การร้องเรียนการกระทำผิดที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการกำกับดูแล ตรวจสอบองค์กรของตนอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ช่วยทำหน้าที่สอดส่องดูแลการทำงานของภาครัฐและภาคเอกชน เรียกร้องให้ภาครัฐแสดงความรับผิดรับชอบในประเด็นที่มีความสำคัญและกระทบต่อสังคมวงกว้าง

ติดตามข่าวสาร ข่าวเด็ด ประเด็นร้อน ที่นี่ 👉 ข่าวเด็ดประจำวัน