คาเฟ่ปลาคราฟ อาจเข้าข่ายเป็นแหล่งก่อสิ่งสกปรก
เมื่อวันที่ 23 พ.ย.67 นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมอนามัยโดยศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี พร้อมด้วยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี สำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีราชา และเทศบาลตำบลบางพระ
ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านคาเฟ่แห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี หลังได้รับข้อร้องเรียนว่าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ในพื้นที่เลี้ยงปลาคราฟ ซึ่งอาจไม่ถูกสุขลักษณะ เสี่ยงต่อสุขภาพทั้งผู้รับบริการ และปลาสวยงาม
จากการตรวจสอบพบว่า ร้านดังกล่าวมีขนาด 4 x 4 เมตร ประกอบด้วยโต๊ะ เก้าอี้ ให้บริการ 4 ชุด 12 ที่นั่ง สำหรับทานอาหารและเครื่องดื่ม พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิค เติมน้ำและเลี้ยงปลาคราฟจำนวนมาก ระดับน้ำแช่เท้าสูงประมาณ 15 – 20 ซม. และมีพื้นที่ล้างเท้าด้วยน้ำด่างทับทิบและน้ำเปล่าก่อนเข้าร้าน ภายในห้องมีเครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง ระบบกรองน้ำ 3 จุด และระบบระบายอากาศ 1 จุด สำหรับน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการปรับคุณภาพน้ำในการเลี้ยงปลา จะเข้าสู่ระบบบำบัดที่ฝังไว้ใต้ดิน
“ร้านคาเฟ่ดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดสิ่งสกปรก หรือมีเชื้อโรคที่อาจติดมากับสัตว์เลี้ยงได้ และอาจเข้าข่ายการฝ่าฝืนกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 ดังนั้น สถานที่จำหน่ายอาหารดังกล่าว ต้องดำเนินการขอรับหนังสือรับรองการแจ้งหรือใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหาร ซึ่งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561
พร้อมทั้งข้อบัญญัติของท้องถิ่น และต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหน่วยงานท้องถิ่นให้คำแนะนำ รวมไปถึงร้านคาเฟ่หรือร้านอาหารอื่น ที่มีลักษณะเดียวกันนี้ ขอให้หน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบและให้คำแนะนำให้ถูกต้องอย่างเคร่งครัด” นพ.ธิติกล่าว
ขณะที่ นพ.สุทัศน์ ไชยยศ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการยังไม่มีใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้ประกอบการยังไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภท 1.กิจการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง 2.การประกอบกิจการเลี้ยง รวบรวมสัตว์ หรือธุรกิจอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน
เพื่อให้ประชาชนเข้าชม เพื่อประโยชน์ของกิจการนั้น เนื่องจากลักษณะประกอบกิจการเป็นการจำหน่ายเครื่องดื่มให้กับผู้มาใช้บริการ โดยจัดบริการเสริมให้เข้าชม และนั่งรับประทานเครื่องดื่มในบริเวณที่เลี้ยงปลาคราฟ
นพ.สุทัศน์ กล่าวต่อว่า กรมอนามัยจึงให้ข้อแนะนำผู้ประกอบการ หยุดประกอบกิจการจนกว่าจะได้รับอนุญาต โดยให้ดำเนินการขออนุญาตภายใน 7 วัน สำหรับบริเวณที่เลี้ยงปลาคราฟ ห้ามไม่ให้นำอาหารและเครื่องดื่มเข้าไปรับประทาน การจัดพื้นที่ด้านความปลอดภัย บริเวณห้องภายในที่มีการเลี้ยงปลาคราฟ
เช่น การลดความเสี่ยงลื่นล้มในบริเวณห้องเลี้ยงปลาคราฟ การเพิ่มระบบระบายอากาศ การควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสม และห้ามเด็กเข้าใช้บริการโดยลำพัง เป็นต้น โดยให้ปรับปรุงก่อนเปิดใช้บริการห้องดังกล่าว รวมทั้งให้ปรึกษาประมงอำเภอเรื่องการเลี้ยงปลา
ติดตามข่าวสาร ข่าวเด็ด ประเด็นร้อน ที่นี่ 👉 ข่าวเด็ดประจำวัน