ชาวบ้านบ้านเหล่ามะเขียว อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ยังคงใช้ชีวิตตามวิถีคนลุ่มน้ำห้วยกุดกุง โดยการเอากิ่งไม้ท่อนไม้มากองรวมกันเอาไว้ในลำห้วยเป็น “กองเยาะ” เพื่อให้ปลาเข้ามาอาศัย แล้วค่อยลงอวนล้อมจับลากขึ้นฝั่ง ทำให้ได้ปลาสารพัดชนิดทำกินเป็นอาหาร
ที่จังหวัดยโสธร เมื่อถึงช่วงหน้าแล้งของทุกปี ชาวบ้านตามแนวลุ่มน้ำชีก็จะพากันไปเอากองเยาะในลำห้วย เพื่อจับปลาหลากหลายชนิดนำไปปรุงเป็นอาหารรับประทาน ก่อนจะนั่งล้อมวงกินข้าวอย่างเอร็ดอร่อยบริเวณริมลำห้วย ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำ
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่บ้านเหล่ามะเขียว ตำบลกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร อันเป็นหมู่บ้านที่อยู่แม่น้ำชี และมีลำห้วยกุดกุงเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำชีไหลผ่าน ในช่วงฤดูน้ำหลาก ปริมาณน้ำก็จะเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเป็นวงกว้าง แต่พอเข้าสู่หน้าแล้งน้ำก็จะแห้งขอด ทำให้ทุกๆ ปีชาวบ้านประมาณ 10 คน ได้รวมกลุ่มไปทำกองเยาะ (รูปแบบการจับปลาด้วยเครื่องมือแบบวิถีอีสาน) เอาไว้ในลำห้วยกุดกุง เพื่อให้ปลาเข้าไปอยู่อาศัย
สำหรับการทำกองเยาะก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่ช่วยกันตัดกิ่งไม้ท่อนไม้ หรือขอนไม้ที่เป็นโพรงนำไปกองรวมกันเอาไว้ในลำห้วย แล้วปักเสาไม้ไผ่กันเป็นแนวเอาไว้ป้องกันไม่ให้กองเยาะไหลไปกับน้ำแล้วปล่อยทิ้งเอาไว้พอเข้าสู่หน้าแล้ง น้ำเริ่มลดลง ปลาหลากหลายชนิดก็จะหาที่อยู่อาศัย และพากันเข้าไปอาศัยอยู่ในกองเยาะที่ทำไว้ จึงเป็นโอกาสดีให้กับชาวบ้านได้พากันไปเอากองเยาะ โดยจะใช้ตาข่าย หรืออวนวางล้อมกองเยาะเอาไว้ให้เป็นวงกลม เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาที่อาศัยอยู่ในกองเยาะหนีออกไปได้ ก่อนจะช่วยกันเก็บกิ่งไม้และขอนไม้ออกจากวงตาข่ายจนหมด จากนั้นก็จะค่อยๆ ลากอวนเข้าหาฝั่ง จนสามารถจับปลาหลากหลายชนิดและขนาดต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย
สำหรับปลาที่จับได้ก็จะมีปลาน้ำจืดพื้นถิ่นหลากหลายชนิด ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เช่น ปลาขาวสร้อย ปลาตะเพียน ปลาขะแยง ปลากด ปลาค้าว ปลาตองกาย หรือ ปลากราย และปลาช่อน ซึ่งแต่ละครั้งที่เอากองเยาะจะสามารถจับปลาได้ไม่ต่ำกว่ากองละ 20 กิโลกรัม หลังจากจับปลาเสร็จก็จะเก็บกิ่งไม้และขอนไม้กลับไปกองรวมกันไว้ที่เดิม เพื่อให้สามารถกลับไปทำกองเยาะได้อีกหลายรอบ โดยหลังจากเอาแต่ละครั้งห่างไปอีก 1 สัปดาห์ ปลาก็จะกลับเข้าไปอาศัยอยู่ใหม่อีกรอบ ก็จะสามารถเข้าไปเอากองเยาะได้อีกวนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีฝนตกลงมา ปริมาณน้ำในลำห้วยเพิ่มสูง ก็จะไม่สามารถเอากองเยาะได้อีก
หลังจากเก็บปลาเสร็จชาวบ้านก็นำปลาที่จับได้ไปปรุงเป็นอาหารรับประทานได้หลากหลายเมนู ทั้งเมนูต้มปลา ย่างปลา และก้อยปลาใส่มดแดง พร้อมกับได้นั่งล้อมวงกินข้าวร่วมกันบริเวณใต้ร่มไม้ริมลำห้วยอย่างเอร็ดอร่อย ส่วนผักก็จะหาได้จากริมลำห้วย ซึ่งต้นไม้หรือเถาวัลย์ต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ตามริมลำห้วยสามารถรับประทานได้เกือบทุกชนิด จึงนำมาเป็นผักรับประทานได้ นี่คือวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำในช่วงหน้าแล้งของทุกปี สำหรับปลาที่เหลือจากการปรุงเป็นเมนูอาหารรับประทานแล้ว ก็จะแบ่งกันกลับบ้าน และบางคนก็จะนำไปขายเป็นรายได้ต่อไป
ติดตามข่าวสาร ข่าวเด็ด ประเด็นร้อน ที่นี่👉ข่าวเด็ดประจำวัน