
หยุดมลพิษพลาสติก โดยพุ่งเป้าไปยังพลาสติกประเภท “ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง”
วันสิ่งแวดล้อมโลก หยุดมลพิษจากพลาสติก…มองต่างประเทศและหันกลับมามองที่ประเทศไทย…“วันสิ่งแวดล้อมโลก” จัดขึ้นทุกๆวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี…ปีนี้เพิ่งผ่านพ้นไปในธีม “หยุดมลพิษจากพลาสติก” โดยพุ่งเป้าไปยังพลาสติกประเภท “ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง”
อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างประเทศแบบอย่าง “ลดขยะพลาสติก” โดยไม่ใช่สร้างภาพ…เริ่มจาก ประเทศเคนยา

ออกกฎหมายห้ามการใช้ถุงพลาสติก ทั้งประเภทถุงพลาสติกสำหรับใช้บรรจุสิ่งของที่มีหูหิ้วและชนิดที่ไม่มีหูหิ้วทุกชนิดและทุกขนาดโดยเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป
สอง…ประเทศฝรั่งเศส ออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกใส่อาหารทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นถาดอาหาร, ถ้วย, แก้วน้ำ, ช้อน…ส้อม หรือเครื่องครัวทุกชนิดบังคับใช้ภายในปี 2563 และให้หันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถย่อยสลายได้แทน
สาม…ประเทศแกมเบีย ประกาศห้ามนำเข้าและห้ามใช้ถุงพลาสติกทุกรูปแบบทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป สี่…ประเทศอังกฤษ ออกกฎหมายเก็บภาษีถุงพลาสติก (Tax on plastic bag) จากลูกค้าในซุปเปอร์มาร์เกตโดยห้ามร้านค้าจ่ายภาษีแทนให้ลูกค้า (pay tax on cost behalf)
เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2558 โดยประชาชนที่ช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าจะต้องโดนชาร์จหรือเก็บเงินเพิ่ม 5 เพนนี หากให้พนักงานขายใส่ของในถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง
ห้า…ประเทศแคนาดา ออกกฎหมายให้ร้านค้าปลีกต้องจัดเก็บค่าถุงพลาสติกในกรณีที่ลูกค้าไม่ได้นำถุงมาจากบ้านอย่างน้อย 5 เซนต์ต่อถุงหนึ่งใบ โดยไม่คำนึงถึงปริมาณและขนาดของถุงพลาสติก
หากลูกค้านำถุงพลาสติกนั้นมาคืนก็จะได้รับเงินคืน ยกเว้นไม่เก็บเงินกรณีของถุงพลาสติกที่ใช้บรรจุผัก ผลไม้ รวมทั้งพลาสติกที่ใช้ห่ออาหารแช่แข็ง ถุงใส่ยารักษาโรค หนังสือพิมพ์ ถุงขยะ เป็นต้น
หก…ประเทศญี่ปุ่น ออกกฎหมายส่งเสริมการใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือกฎหมายส่งเสริมการซื้อสีเขียว (Law on Promoting Green Purchasing) และมีการกำหนดวันงดใช้ถุงพลาสติก (No plastic bag day) โดยได้รับความร่วมมือจากร้านค้าและตลาดเป็นจำนวนมาก
รวมทั้งญี่ปุ่นยังออกกฎหมายการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อให้ผู้จัดจำหน่ายนำซากผลิตภัณฑ์เก่าที่ผู้บริโภคมาส่งคืนกลับมาใช้อีก
น่าสนใจว่าปัจจุบันญี่ปุ่นได้พัฒนาพลาสติกชนิดใหม่ที่สามารถละลายในน้ำทะเลได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง พลาสติกชนิดนี้ถูกออกแบบมาให้สลายตัวได้เร็วขึ้นและไม่ทิ้งสารตกค้าง
เจ็ด…ประเทศไต้หวัน ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม (Ban the distribution of free plastic shopping bags and foam box) โดยห้ามใช้ถุงพลาสติกที่มีความหนาไม่เกิน 0.06 มิลลิเมตร และเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมกับผู้ค้าปลีกโดยออกกฎห้ามร้านค้าให้ถุงพลาสติกและกล่องโฟมโดยไม่คิดราคา
คิดค่าปรับ สำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอยู่ระหว่าง 66,000–300,000 ดอลลาร์ไต้หวัน

สุดท้าย…ประเทศไทย ใช้พลาสติกมากกว่า 7 พันล้านชิ้นต่อปี คิดเป็น 20 ล้านชิ้นต่อวันและติดอันดับ 10 ของโลกที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเล…ทุกวันนี้ยังไม่ขยับอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพียงแค่รณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกลดการใช้พลาสติกแค่นั้น…ทำกันมาเป็นสิบๆปีแล้ว
ในภาพรวมภาพใหญ่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเร่งด่วนของ “ประเทศไทย”…เป็นอีกมิติสำคัญที่ประชาชนกำลังรอความหวังจากรัฐบาล นับหนึ่งประเด็นร้อน…สารโลหะหนักปนเปื้อนทั้งสารหนูและสารตะกั่วในลำน้ำกกและลำน้ำแม่สายจังหวัดเชียงราย ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งในเรื่องการใช้น้ำในลำน้ำและน้ำบ่อตื้น
ประชาชนรอการแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐบาล?
ถัดมา “ฝุ่น PM 2.5” ที่จะกลับมาอาละวาดอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคมปีนี้ถึงเดือนมีนาคมปีหน้า ทั้งในเขตเมืองและชนบท ต่อเนื่องไปถึงปัญหา…โรงงานสีเทาจากอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญนำกากอุตสาหกรรมที่เหลือจากการผลิตแอบทิ้งและฝังไว้ในพื้นที่โรงงาน…ส่งต่อไปกำจัดแบบผิดกฎหมาย
อีกทั้งภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดจากพายุ ฝนตก น้ำท่วม ดินถล่ม หลุมยุบ แผ่นดินไหว อันเนื่องมาจากภาวะโลกที่ร้อนขึ้น สิ่งที่ประชาชนเฝ้ารอคือแผนที่แสดงจุดเสี่ยงของแต่ละจังหวัด แผนแจ้งเตือนภัย แผนเผชิญเหตุ แผนการอพยพและแผนการฟื้นฟู ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดขึ้นในทุกจังหวัดเพื่อเตรียมความพร้อม
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง “ขยะชุมชน” ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศปีละถึง 26.7 ล้านตัน กำจัดได้ถูกต้องเพียงแค่ 7.2 ล้านตัน มีกองขยะ ชุมชนที่นำไปเทกองเป็นภูเขาทั่วประเทศเกือบ 2,000 แห่ง ฤดูร้อน เกิดไฟไหม้ ฤดูฝนเกิดน้ำท่วม ส่วนฤดูหนาวส่งกลิ่นเหม็นทั้งแมลง…สัตว์แทะรบกวนชุมชนใกล้เคียง เห็นได้ชัดคือกองภูเขาขยะแพรกษา
พุ่งเป้าพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทราประกาศเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีนักลงทุนเข้ามาจำนวนมากก็จริง แต่ที่ผ่านมาการพัฒนาดังกล่าวกลับล้มเหลวในด้านการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากมีทั้งการทิ้งกากอุตสาหกรรม
การปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเกิดไฟไหม้ปล่อยสารเคมีบ่อยครั้งมาก…สิ่งที่ตามมาคือประชาชนในพื้นที่ป่วยเป็นโรคที่เกิดจากสารเคมีและสารโลหะหนักมากที่สุดในประเทศไทย…
ขณะที่ประชาชน “จังหวัดปราจีนบุรี” ได้ออกประกาศว่าจังหวัดปราจีนบุรีไม่ขอเข้าร่วมเป็นพื้นที่ EEC…ต่อเนื่องถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ตึก สตง.ที่ใช้เหล็ก…ปูนไม่ได้คุณภาพถล่มลงมา ทั้งหมดเหล่านี้ยังคงต้องการความชัดเจนในการแก้ไขปรับปรุง… ต้องตั้งตารอบทสรุปท่ามกลางความเงียบงัน
ติดตามข่าวสาร ข่าวเด็ด ประเด็นร้อน ที่นี่ 👉 ข่าวเด็ดประจำวัน