องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) ชี้พบข้อสังเกต อาคาร สตง.ถล่ม เผยเข้าร่วมสังเกตการณ์หลังเลือกผู้รับเหมาผู้ควบคุมงานแล้ว ก่อสร้างล่าช้า ผู้รับเหมาหยุดงานเป็นช่วงๆ
วันที่ 29 มี.ค. 68 นายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้าน คอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า จากการที่องค์กรต่อต้าน คอร์รัปชันฯ ได้ร่วมกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ลงนามใน “โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)” เพื่อป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในโครงการก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ ที่พังถล่มเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่า องค์กรต่อต้าน คอร์รัปชันฯ พบว่าการก่อสร้างหย่อนประสิทธิภาพโดยเห็นได้จากการก่อสร้างล่าช้า ผู้รับเหมาหยุดงานเป็นช่วง ๆ ซึ่งได้ทักท้วงมาโดยตลอด โดยปกติโครงการจะเปิดให้ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้าน คอร์รัปชันฯ เริ่มเข้าสังเกตการณ์ตั้งแต่เขียนข้อกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) เพื่อป้องกันการล็อกสเปก การฮั้วประมูล และการตั้งงบประมาณสูงเกินจริง ให้ทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมายอย่างเปิดเผยโปร่งใส แต่โครงการนี้กลับไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐให้เข้าโครงการข้อตกลงคุณธรรม ทำให้ไม่มีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมตั้งแต่ต้น
ทั้งนี้ทาง สตง. เป็นผู้ติดต่อขอให้องค์กรต่อต้าน คอร์รัปชันฯ ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมโครงการนี้เอง เนื่องจาก สตง. มีภารกิจตรวจสอบผู้อื่น เพื่อเป็นแบบอย่างการเปิดเผยโปร่งใส จึงต้องการให้มีผู้สังเกตการณ์ภายนอกเข้ามาร่วมให้ความเห็น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรคอร์รัปชันฯ ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่หลังจาก สตง. คัดเลือกผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน และมี TOR พร้อมแบบก่อสร้างแล้ว จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกำหนดคุณสมบัติและการคัดเลือกผู้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรวมทั้ง TOR ดังกล่าว
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้รับเหมาโครงการนี้มีการหยุดงานเป็นช่วงๆ ในช่วงแรก และเมื่อทำงานต่อก็ทำอย่างล่าช้ามาก ซึ่งคณะผู้สังเกตการณ์ได้ทักท้วงมาโดยตลอด จนเมื่อเดือนมกราคม 2568 สตง. แสดงท่าทีเตรียมยกเลิกสัญญาก่อสร้าง
นายมานะ กล่าวต่อไปว่า ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้าน คอร์รัปชันฯ มีขอบข่ายหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารสัญญาก่อสร้างว่าถูกต้องตรงตามแบบก่อสร้างตามสัญญาหรือไม่ หากมีการแก้แบบ เพิ่มลดงาน หรือวัสดุก่อสร้าง สตง. และผู้ควบคุมงานจะต้องแจ้งให้ผู้สังเกตการณ์ทราบ ส่วนเรื่องการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันทางวิศวกรรมระหว่างการก่อสร้างเช่น การแก้แบบ เพิ่มลดงาน เปลี่ยนวัสดุก่อสร้าง หรือดึงงานล่าช้าเป็นความรับผิดชอบของ สตง. และบริษัทผู้ควบคุมการก่อสร้างที่ได้รับว่าจ้างเป็นผู้กำกับควบคุมผู้รับเหมาให้ก่อสร้างตามสัญญา
“โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)” เป็นมาตรการสากล ที่องค์กรต่อต้าน คอร์รัปชันฯ นำแนวคิดมาจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ โดยนำเสนอให้รัฐบาลไทยนำมาใช้ตรวจสอบความโปร่งใสในโครงการเมกะโปรเจกต์ ตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีผู้ทรงคุณวุฒิอาสาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์อิสระจำนวน 252 คน ร่วมสังเกตการณ์ 178 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ประหยัดงบประมาณประเทศได้ 77,548 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.7 ของงบประมาณรวม
“แต่มีข้อสังเกตว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โครงการที่รัฐเลือกเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมกลับมีขนาดและความสำคัญลดน้อยลงเหลือไม่ถึง 1 ใน 3 เป็นเรื่องน่าเสียดายโอกาสของประเทศไทยที่จะใช้งบประมาณและทรัพยากรของรัฐให้คุ้มค่า และส่งเสริมการทำงานของภาครัฐให้เปิดเผยโปร่งใสโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว
ติดตามข่าวสาร ข่าวเด็ด ประเด็นร้อน ที่นี่ 👉 ข่าวเด็ดประจำวัน