เตือนเฝ้าระวังระดับน้ำ บริเวณแม่น้ำปิง คาด 25 ก.ย. นี้ มีแนวโน้มเกินระดับวิกฤติ

เตือนเฝ้าระวังระดับน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 1 ประกาศ เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำปิง สถานี P.1 สะพานนวรัฐ มีแนวโน้มเกินระดับวิกฤติ สูงสุดที่ระดับ 3.90 เมตร ในวันที่ 25 ก.ย. นี้

วันที่ 24 กันยายน 2567 มีรายงานว่า สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ออกประกาศเรื่องเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำปิง (สถานี P.1 สะพานนวรัฐ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่)

ด้วยช่วงวันที่ 21-23 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับอิทธิพลจากพายุ “ซูริก” ส่งผลให้มีฝนตกกระจายทั่วทั้งจังหวัดในเกณฑ์หนักมาก ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงและน้ำสาขาในพื้นที่ตอนบนมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงอาจจะเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ (สูงกว่าระดับตลิ่งของสถานี P.1) ได้

สถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิง วันที่ 24 กันยายน 2567 เวลา 10.00 น. ณ สถานี P.1 (แม่น้ำปิง ที่สะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่) ระดับน้ำ 3.34 เมตร (ต่ำกว่าระดับวิกฤติ 0.35 เมตร) ปริมาณน้ำ 352.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลลงมาจากลุ่มน้ำปิงตอนบน (น้ำปิงจากต้นน้ำอำเภอเชียงดาว น้ำแม่แตง น้ำแม่ริม และน้ำแม่เตาไห)

สำนักงานชลประทานที่ 1 คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่สถานี P.1 สะพานนวรัฐ มีแนวโน้มเกินระดับวิกฤติที่ระดับ 3.70 เมตร โดยจะมีระดับสูงสุดที่ระดับ 3.90 เมตร (ปริมาณน้ำ 438.00 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ในวันที่ 25 กันยายน 2567 เวลา 01.00 น. ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 1 จะติดตาม/เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และรายงานให้ทราบอย่างต่อเนื่อง และขอให้พื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวแม่น้ำปิงเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำตามแนวแม่น้ำปิงที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวด้วย จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่เสี่ยง ดังนี้

1. โซน 1 ระดับน้ำที่สะพานนวรัฐ +3.70 เมตร บ้านป่าพร้าวนอก (บางส่วน) ร้านอาหารท่าน้ำ ทางลอดใต้สะพานป่าแดด

2. โซน 2 ระดับน้ำที่สะพานนวรัฐ +3.90 เมตร บ้านเด่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ (บ้านเด่น) หมู่บ้านจินดานิเวศน์

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

  1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
  2. เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
  3. ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก สำนักงานชลประทานที่ 1 

ติดตามข่าวสาร ข่าวเด็ด ประเด็นร้อน ที่นี่ 👉 ข่าวเด็ดประจำวัน